Monthly Archives: May 2012

8 ยักษ์ไอทีเดินสะดุดบ่วงขาดทุน

เผยโฉม 8 บิ๊กแบรนด์ไอทีที่เคยยิ่งใหญ่ แต่วันนี้กลับเดินสะดุดบ่วงขาดทุน และกำลังสูญเสียความเป็นดาวจรัสแสง

เทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้น ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้บริโภคในขณะนี้ คือ บริษัทผู้ผลิตที่เคยครองตำแหน่งผู้นำเริ่มถูกคู่แข่งบดบังรัศมี จากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะราคาแพงของคู่แข่ง ทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ จนทำให้บิ๊กแบรนด์ไอทีหลายรายขาดทุน และเผชิญกับภาวะขาลง

ทั้งที่ครั้งหนึ่ง เคยเป็นแบรนด์ในดวงใจผู้บริโภค แต่ถึงวันนี้หลายคนกลับไม่สามารถจดจำชื่อแบรนด์เหล่านั้นได้ และแม้จะเคยสร้างความฮือฮาด้วยผลิตภัณฑ์สุดไฮเทค ไม่ว่าจะเป็นนินเทนโด วี แบล็คเบอร์รีของอาร์ไอเอ็ม โซนี่ วอล์คแมน บริษัทเหล่านี้กลับไม่สามารถบริหารจัดการความสำเร็จให้ยาวนานด้วยผลิตภัณฑ์ ใหม่ๆ จนต้องสูญเสียที่ยืนให้กับคู่แข่ง

น่าสนใจว่า ในบางกรณีบิ๊กเนมเดินเข้าสู่ขาลงโดยที่ไม่มีคู่แข่งจริงๆ จังๆ ด้วยซ้ำ อย่าง “โนเกีย” ที่เผชิญภาวะขาดทุนและสูญเสียฐานที่มั่นในธุรกิจ เพราะไม่สามารถเกาะเกี่ยวกระแสสมาร์ทโฟนที่เติบโตอย่างรวดเร็วได้

24/7 วอลล์สตรีท รวบรวม 8 แบรนด์เทคโนโลยีระดับท็อปที่กำลังเดินสะดุดบ่วงขาดทุน และเผชิญกับกระแสความนิยมที่เสื่อมถอยลง โดยบริษัทแรก ได้แก่ “รีเสิร์ช อิน โมชั่น” (อาร์ไอเอ็ม) ซึ่งเคยเป็นผู้นำตลาดสมาร์ทโฟน แบล็คเบอร์รีที่เคยฮิตกลับสูญเสน่ห์ ไตรมาส 4 ที่ผ่านมา บริษัทรายงานผลขาดทุนสุทธิ 125 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมาจากค่าความนิยม (goodwill charge) และการจัดเตรียมสินค้าคงคลังของแบล็คเบอร์รี 7 ทำให้รายได้ของอาร์ไอเอ็มลดลง 24% จากปีก่อน ขณะที่ส่วนแบ่งของอาร์ไอเอ็มในตลาดสมาร์ทโฟนสหรัฐร่วงจาก 16% ในเดือนธันวาคม เหลือ 12.3% ในเดือนมีนาคมปีนี้ ผิดกับสมาร์ทโฟนตระกูลแอนดรอยด์ของกูเกิลที่มีส่วนแบ่งเพิ่มจาก 47.3% เป็น 51% และนี่อาจทำให้ “แบล็คเบอร์รี 10″ เป็นโอกาสสุดท้ายของอาร์ไอเอ็มที่จะกู้สถานการณ์

2.”ชาร์ป” แบรนด์ญี่ปุ่นที่รายงานผลขาดทุนทั้งปี 4.67 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเดือนเมษายน และคาดว่าจะยังขาดทุนต่อเนื่องอีกในปีงบประมาณปัจจุบัน สาเหตุหลักๆ ของการขาดทุนมาจากราคาและยอดขายทีวีแอลซีดีที่ลดลง นอกจากนี้ ชาร์ปยังต้องต่อกรกับบริษัทจากเกาหลีใต้ ชาร์ปใช้เงิน 1.5 พันล้านดอลลาร์ในการปรับโครงสร้าง และเพิ่งขายหุ้น 46% ในโรงงานแอลซีดีให้กับคู่แข่งจากไต้หวัน “ฮอน ไฮ” เพื่อลดขาดทุนในธุรกิจผลิตทีวี

3.”อิเล็กทรอนิก อาร์ตส” ค่ายเกมยักษ์ใหญ่ รายงานผลขาดทุนสุทธิ 205 ล้านดอลลาร์ ในไตรมาส 3 ที่สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2554 ทั้งที่มีรายได้สุทธิ 1.06 พันล้านดอลลาร์ในช่วงเดียวกัน โดยเกม “ฟีฟ่า 12” และ “แบทเทิลฟีลด์ 3″ ขายได้กว่า 10 ล้านสำเนา บริษัทยังควักเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างสรรค์เกมบนเครือข่ายสังคม

4.”โซนี่” ยักษ์อิเล็กทรอนิกส์แดนซามูไร โดยในเดือนเมษายน โซนี่ออกมาเตือนว่าอาจขาดทุนสุทธิ 6.4 พันล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณล่าสุด ซึ่งถือเป็นการขาดทุนมากสุดนับแต่ก่อตั้งมา 65 ปี ไม่เพียงขาดทุนในธุรกิจทีวี แต่ในธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้บริโภค โซนี่ก็ต้องแข่งกับแอปเปิลและซัมซุง รวมถึงสูญเสียตลาดเกมและอุปกรณ์เพลงดิจิทัล ทั้งที่เคยปลุกปั้น “พีเอส2” และ “วอล์คแมน” จนดังระเบิด

5.”นินเทนโด” ผู้ผลิตเครื่องเล่นเกมเบอร์ 1 ซึ่งมี “วี” เป็นสินค้ายอดฮิต แต่การแข่งขันที่ดุเดือดทั้งกับไมโครซอฟท์และโซนี่ ทำให้นินเทนโดถูกบีบให้ลดราคาสินค้าลง เดือนเมษายนที่ผ่านมา บริษัทรายงานผลขาดทุนในปี 2554 ราว 461.2 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ทั้ง 3 บริษัทต้องเผชิญกับการแข่งขันจากบรรดาเกมบนสมาร์ทโฟนที่โตอย่างรวดเร็ว

6.”โนเกีย” ยักษ์มือถือเบอร์ 1 ที่เพิ่งถูกซัมซุงโค่นตำแหน่งในส่วนของมือถือระดับล่าง ขณะที่ตลาดสมาร์ทโฟนก็ไม่สามารถรักษาที่ยืนจากเงื้อมมือของซัมซุงและแอปเปิล บริษัทเพิ่งประกาศผลขาดทุนสุทธิ 1.2 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาสล่าสุด และจับมือกับไมโครซอฟท์เพื่อกอบกู้ความยิ่งใหญ่

7.”บาร์นส แอนด์ โนเบิล” ที่โหมลงทุนอุปกรณ์อ่านอี-บุ๊ก “นุก” (Nook) แต่การแข่งขันจากแทบเล็ตและบริษัทอี-รีดเดอร์อื่นๆ อาทิ แอปเปิล อะเมซอน ส่งผลให้ช่วง 39 สัปดาห์ นับถึง 28 มกราคม 2555 บาร์นส แอนด์ โนเบิล ขาดทุนกว่า 11 ล้านดอลลาร์ บริษัทพยายามลดต้นทุนในการพัฒนาโดยหันไปใช้ระบบปฏิบัติการวินโดว์สของ ไมโครซอฟท์

8.”เอเซอร์” พึ่งพาเน็ตบุ๊กอย่างมาก กระทั่งกระแสแทบเล็ตเติบโตมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รวมถึงสมาร์ทโฟน บริษัทหนีไม่พ้นบ่วงขาดทุน 212 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว ปัจจุบันเอเซอร์ปรับโฟกัสไปเน้นอัลตร้าบุ๊ก ซึ่งนักวิเคราะห์ประเมินว่า ราคาอัลตร้าบุ๊กจะลดลงอีก เพื่อสู้กับไอแพด ซึ่งอาจทำให้เอเซอร์เจ็บตัวอีก

ข่าวจาก

http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/global/20120515/451732/8-%E0%B8%A2%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B9%8C%E0%B9%84%E0%B8%AD%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B0%E0%B8%94%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%9A%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%99.html