Monthly Archives: January 2009

Western Digital ปรับลดการผลิต และปิดโรงงานบางส่วนในไทยและมาเลเซีย

‘ดับบลิวดี’ปิดโรงงานไทย-‘ซีเกท’เปลี่ยนซีอีโอ

“ดับบลิวดี”ลดกำลังการผลิตขนาด3.5นิ้วหันมุ่ง 2.5 นิ้วตามความต้องการตลาด ทำให้ต้องปิดโรงงานในไทยที่นวนครและมาเลเซีย ด้านซีเกทผลัดซีอีโอใหม่

รายงานข่าวจากบริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล จำกัด (ดับบลิวดี) ผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟรายใหญ่แห่งหนึ่งของโลก ระบุว่า การผลิตฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟขนาด 2.5 นิ้ว และ 3.5 นิ้ว ช่วง 3 ไตรมาสนับจากนี้ในโรงงานนิคมอุตสาหกรรมนวนครในประเทศไทย และโรงงานอีกแห่งในประเทศมาเลเซีย ว่า จะลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 40 ล้านยูนิต เหลือ 35 และ 30 ล้านยูนิตตามลำดับ
จากการลดกำลังการผลิตฮาร์ดดิสก์ขนาด 3.5 นิ้ว ซึ่งใช้ในคอมพิวเตอร์ (พีซี) และเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายเป็นหลัก แสดงให้เห็นว่า ตลาดพีซีและคอมพ์แม่ข่าย มีความต้องการมีการหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง เพราะปัญหาเศรษฐกิจ และการใช้งานที่เปลี่ยนไป โดยโรงงานที่นวนคร คาดว่าจะลดกำลังการผลิต 11.8 ล้านยูนิต เหลือ 10.9 ล้านยูนิต และ 6.9 ล้านยูนิต ขณะที่โรงงานมาเลเซียคาดว่าจะผลิต 10.7  ล้านยูนิต เหลือ 8.3 ล้านยูนิต และ 7.7 ล้านยูนิต ภายใน 3 ไตรมาส ตามลำดับ
ส่วนโรงงานที่บางปะอิน ประเทศไทยซึ่งผลิตฮาร์ดดิสก์ขนาด 2.5 นิ้ว สำหรับโน้ตบุ๊ค มีการลดกำลังการผลิตเล็กน้อย จาก 17.5 ล้านยูนิต เหลือ 15.8 ล้านยูนิต และ 15.4 ล้านยูนิต แสดงให้เห็นว่า ตลาดเครื่องโน้ตบุ๊ค ยังเป็นที่ต้องการในตลาด แม้จะมีการลดลงบ้างแต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับที่รับได้
แหล่งข่าวภายในดับบลิวดี กล่าวว่า ดับบลิวดีจะปิดโรงงานที่ซาราวัก และรวมการผลิตไปไว้ที่โรงงานจอฮอร์บารู ในประเทศมาเลเซีย เพื่อลดค่าใช้จ่ายในภาพรวม ส่วนในประเทศไทยได้ปิดโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมนวนครไป 1 โรงงาน และสับเปลี่ยนพนักงานบางส่วนไปโรงงานที่บางปะอินแทน ไม่มีการเลิกจ้างพนักงานแต่อย่างใด และมีการควบคุมการทำงานล่วงเวลาในบางส่วน พร้อมเปิดโอกาสให้พนักงานสมัครใจลาออกได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษ เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้กับบริษัท
“ในซีเกท ไม่ได้มีการเลย์ออฟ หรือให้พนักงานสมัครใจลาออก เพราะมีการควบคุมค่าใช้จ่ายตั้งแต่แรกอยู่แล้ว และอาจจะมองว่ามาตรการของดับบลิวดี เป็นการตื่นตัวเกินกว่าเหตุ แต่การมีมาตรการดังกล่าว ย่อมดีกว่าปล่อยผ่านเลยไป เพราะเมื่อถึงเวลาก็อาจจะช้าเกินไปได้ ถ้าความต้องการในตลาดลดลงจริง จะลดกำลังการผลิตในเวลานั้น ปัญหาก็อาจใหญ่เกินแก้” แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวในวงการฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ กล่าวว่า ผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟรายใหญ่ มุ่งกำลังการผลิตไปที่ฮาร์ดดิสก์ขนาด 3.5 นิ้วมากกว่า 2.5 นิ้ว ขณะที่ความต้องการในตลาดมุ่งไปที่ 2.5 นิ้วมากกว่า เพราะนำไปใช้กับคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค รวมทั้งเน็ตบุ๊ค ที่เดิมไม่มีฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟติดตั้ง แต่ไม่สนองความต้องการของตลาด จึงต้องหันมาใส่ฮาร์ดดิสก์ 2.5 นิ้วไปด้วย
ด้านสำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี ประกาศเปลี่ยนประธานคณะผู้บริหาร (ซีอีโอ) และประธานคณะผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ (ซีโอโอ) คนใหม่เป็น “นายสตีเฟ่น ลุคโซ” อดีตนายธนาคาร ที่นั่งเก้าอี้ซีอีโอซีเกทในระหว่างปี 2541-2547 กลับเข้ามารับตำแหน่งเดิมอีกครั้ง
ขณะที่ผู้รับตำแหน่งซีโอโอมี “นายโรเบิร์ต วิทมอร์” รองประธานบริหารและประธานฝ่ายเทคโนโลยีเข้ามาดูแลแทน
ส่วนผู้บริหารเดิมคือ นายวิลเลียม วัตคินส์ ซึ่งนั่งตำแหน่งซีอีโอบริษัทตั้งแต่ปี 2547 และนายเดฟ วิคเกอร์แชม ซีโอโอ ซีเกท วัย 52 ปี ที่ได้ยื่นใบลาออกจากบริษัทอย่างเป็นทางการ และมีผลทันที โดยจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการแถลงเหตุผลการลาออกจากผู้บริหารทั้งสองคน
นอกจากนี้ รายงานข่าวยังระบุว่า ซีเกทยังได้วางแผนเลิกจ้างพนักงานในสหรัฐฯ ราว 10 % จากที่มีอยู่ 8,000 คน ขณะที่บริษัทมีพนักงานทั่วโลกราว 53,000 คน ซึ่งคาดว่าเป็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่กำลังทรุดตัวในขณะนี้
ปัจจุบันซีเกทเป็นผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์รายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 30% ทั่วโลก

Multitouch จาก HP

มาแล้ว “มัลติทัช” บนโน้ตบุ๊ค รายแรกจากเอชพี

เอ ชพีชี้ตลาดพีซีระอุคาดผู้ค้างัดกลยุทธ์ราคาสู้ เชื่อเศรษฐกิจกระทบเฉพาะตลาดล่าง พร้อมปล่อยพีซีเซคเมนท์“ทัชสมาร์ทจับฟังก์ชั่นสัมผัสลงโน้ตบุ๊ค

นายปวิณ วรพฤกษ์ ผู้จัดการกลุ่มผลิตภัณฑ์และการตลาด กลุ่มธุรกิจเพอร์ซันแนล ซิสเต็มส์ บริษัท ฮิวเลตต์-แพคการ์ด ประเทศไทย จำกัด หรือ เอชพี กล่าวว่า ทิศทางตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในปี 2552 คาดว่าจะดุเดือดมากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคยังคงมีกำลังซื้อ แต่อาจจะตัดสินใจช้าลง

ทั้งนี้ส่งผลให้ผู้ค้าจะแข่งขันกันรุนแรงมากขึ้น โดยใช้กลยุทธ์ด้านราคาเป็นหลัก

ขณะที่ปัจจัยด้านลบทางเศรษฐกิจจะส่งผลกระทบต่อตลาดพีซีในระดับล่างเท่านั้น ส่วนตลาดพีซีระดับบนเชื่อว่า ยังสามารถขยายตัวได้ดี เนื่องจากผู้ซื้อในกลุ่มนี้ไม่ได้มองราคาเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจซื้อ

อย่างไรก็ตาม สำหรับเอชพีเชื่อว่า นอกจากตลาดในกลุ่มที่เน้นราคาเป็นหลักแล้ว ยังมีตลาดในเซคเมนท์อื่นๆอีกมากที่ยังจะสามารถเติบโตได้ในปีนี้

เขาเผยว่า ในปีนี้เอชพีจะเน้นการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ให้หลากหลาย พร้อมเจาะกลุ่มตามเซคเมนท์ย่อยมากขึ้น โดยเน้น 3 กลุ่มเป้าหมายหลักคือ กลุ่มผู้หญิง ครอบครัวรุ่นใหม่ และวัยรุ่น ซึ่งล้วนแต่เป็นกลุ่มที่คาดว่ายังมีแนวโน้มซื้อสูงในปีนี้

พร้อมกันนี้เอชพียังได้เริ่มปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การรุกตลาด โดยหันมาเน้นสื่อดิจิทัลมากขึ้น รวมทั้งสื่อออนไลน์ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดี

แต่ทั้งนี้สำหรับการโฆษณาผ่านสื่อปกติ เช่น ทีวี ก็ยังคงมีอยู่เพื่อเป็นส่วนเสริม และสร้างสีสันให้กับแบรนด์ รวมทั้งสินค้าที่นำเสนอ

ล่าสุดบริษัทได้เปิดตัวพีซีเซคเมนท์ใหม่ “ทัชสมาร์ท” ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้นวัตกรรมระบบสัมผัสมาไว้บนพีซีระดับคอนซูเมอร์เป็น ครั้งแรก

พร้อมเปิดตัวโน้ตบุ๊ครุ่นแรกในกลุ่มดัง กล่าวคือ “เอชพี ทัชสมาร์ท ทีเอ็กซ์2” และโฮม พีซีระบบสัมผัสในชื่อรุ่น “เอชพี ทัชสมาร์ท ไอคิว 800”

ทั้งนี้เพื่อขานรับแนวโน้มการขยายตัวของตลาดในกลุ่มทัชชิ่ง (Touching) ซึ่งเอชพีได้พัฒนาฟีเจอร์ “เอชพี มีเดีย สมาร์ท” สำหรับควบคุมการใช้งานฟังก์ชั่นต่างๆทำได้ง่าย โดยใช้นิ้วมือบิด หมุน กด ลาก และเคาะบนหน้าจอได้โดยตรง

รวมทั้งใช้งานไฟล์ดิจิทอล ทั้งรูปภาพ ดนตรี วิดีโอ และเวบคอนเทนท์ต่างๆได้โดยใช้นิ้วจิ้มบนหน้าจอ

นอกจากนี้สำหรับเอชพี ทัชสมาร์ท ทีเอ็กซ์2 ยังสามารถปรับการใช้งานเป็นแทบเล็ตได้ในตัว ราคาเริ่มต้น 39,900 บาท

ส่วนโฮมพีซี ยังสามารถรองรับการเชื่อมต่อไดร์ฟบลู-เรย์ รวมทั้งการนำเสนองานแบบพรีเซนเทชั่น ด้วยจอขนาด 25 นิ้ว ราคาเริ่มต้น 79,900 บาท

นายปวิณ กล่าวเพิ่มเติมว่า พีซีในกลุ่มดังกล่าวคาดว่าจะสามารถเจาะตลาดในระดับแมสได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้นิยมเทคโนโลยีใหม่

พร้อมทั้งเชื่อว่า กระแสความนิยมในตลาดเน็ตบุ๊คจะไม่ส่งผลกระทบต่อการเปิดตลาดเซคเมนท์ใหม่ใน ครั้งนี้ เนื่องจากฟังก์ชั่นการใช้งาน และกลุ่มเป้าหมายแตกต่างกัน

ทีเอชนิคชวนร่วมกิจกรรมใช้คอมพ์อย่างสร้างสรรค์

ทีเอชนิค ประกาศ 6 โครงงานใช้คอมฯ อย่างสร้างสรรค์ รู้ทันโรคภัย พร้อมเชิญชวนชาวเน็ต และผู้ใช้คอมพิวเตอร์ร่วมกิจกรรม เริ่ม 16 ม.ค. – 25 ก.พ.52

รายงานข่าวจากมูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย (ทีเอชนิค) ผู้ทำหน้าที่บริหารจัดการฐานข้อมูลชื่อโดเมนระดับบนสุด .th กล่าวว่า จากการประกาศผล 6 โครงงานที่ได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการ ในโครงการ “ใช้คอมฯ อย่างสร้างสรรค์ รู้ทันโรคภัย” ที่ดูแลโดย รศ. ดร.โคทม อารียา ประธานมูลนิธิ ไปตั้งแต่กลางเดือน ธ.ค.2551
ประกอบด้วย โครงงานใช้คอมฯ อย่างสร้างสรรค์ รู้ทันโรคภัย ของมหาวิทยาลัยบูรพา สาขาเทคโนโลยีการศึกษา รับผิดชอบโดยนายเจนจบ สุขแสงประสิทธิ์ และผศ. ฉลองชัย  ธีวสุทธสกุล โครงงานผลกระทบด้านสุขภาพจากการใช้งานคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยราชธานีสมาชิกชมรมคอมพิวเตอร์กราฟฟิกโดยนางสาวทวีนันต์ ชุมนวล และอ.ธนารักษ์ ฤกษ์นาวา
โครงงานโรค (คอม) อย่างนี้ก็มีด้วย มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี โดยนางสาวศิริเพ็ญ พรหมสุวรรณ และอ.วรนุช ปรีหจินดา อ.สุวรรณา เมธีภัทรากูล อ.เปรมรัตน์ พูลสวัสดิ์ อ.สุปัญญา อภิวงศ์โสภณ โครงงานรู้ทันโรคภัยใกล้คอมฯ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี โดยนางสาวผกามาศ ปิยะวาส และอ.วรนุช ปรีหจินดา อ.สุวรรณา เมธีภัทรากูล อ.เปรมรัตน์ พูลสวัสดิ์ อ.สุปัญญา อภิวงศ์โสภณ
โครงงานแอพพลิเคชั่นเพื่อสนับสนุน การใช้งานคอมพิวเตอร์ให้ถูกสุขลักษณะ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยนางสาวขนิษฐา จันทรมานนท์ และรศ.ดร. โชติพัชร์ ภรณวลัย โครงงานสนุกกับคอมฯ พร้อมรักสุขภาพ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ นายศักดิ์พงษ์ เสรีเศวตรัตน์ และรศ.ดร.โชติพัชร์ ภรณวลัย
โครงงานต่างๆ มีกำหนดจัดกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับโรคที่เกิดจากการใช้งานคอมพิวเตอร์ พร้อมวิธีการดูแลฟื้นฟู และวิธีการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อการเกิดโรคดังกล่าว หลากหลายรูปแบบ เช่น งานสัมมนาเชิงวิชาการหรือเชิงปฏิบัติ นิทรรศการ หรือการติดตั้งโปรแกรมห่วงใยสุขภาพของคนเล่นคอมพิวเตอร์ สำหรับชาวโซเชียล เน็ตเวิร์ค เป็นต้น
โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ให้ความรู้แก่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ให้ทราบถึงโรคที่มา จากการใช้คอมพิวเตอร์ และวิธีป้องกัน รวมทั้งเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นเกี่ยวกับสุขภาพ ระหว่างผู้ใช้คอมพิวเตอร์ ซึ่งจะสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของมูลนิธิที่ต้องการดำเนินงานเพื่อสาธารณ ประโยชน์
ทั้งนี้เจ้าของโครงงานที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จะได้รับงบประมาณไม่เกิน 25,000 บาท และเบี้ยเลี้ยงพิเศษ 2,000 บาท มีระยะเวลาดำเนินโครงงานไม่เกิน 5 เดือน โครงงานที่ผ่านการอนุมัติและได้รับคัดเลือกให้เป็นโครงงานดีเด่น จะได้รับทุนการศึกษาพิเศษ ปี 2552 จำนวน 10,000 บาท
ผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมสามารถดูกำหนดการได้ ดังนี้ โครงงานรู้ทันโรคภัยใกล้คอมฯ สัมมนา หัวข้อ “รู้ทันโรคภัยใกล้คอมฯ” วันศุกร์ที่ 16 มกราคม 2552 เวลา 12.30 – 15.00 น. ณ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ให้ความรู้โดย นายแพทย์ศักดิ์ชัย ถิรวิทยาคม
โครงงานโรค (คอม) อย่างนี้ก็มีด้วย นิทรรศการวิชาการ หัวข้อ “โรค (คอม) อย่างนี้ก็มีด้วย” (แจกของที่ระลึก) วันที่ 16 – 21 มกราคม 2552 ณ อาคารบรรณสาร ชั้น 1 มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
โครงงานผลกระทบด้านสุขภาพากการใช้งานคอมพิวเตอร์ สัมมนา หัวข้อ “เฮฮาประสาคนคอมพ์” (พร้อมตอบคำถามชิงรางวัล) วันอาทิตย์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา 12.30 – 16.30 น. ณ มหาวิทยาลัยราชธานี
โครงงานใช้คอมฯ อย่างสร้างสรรค์ รู้ทันโรคภัย ประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ “ใช้คอมฯ อย่างสร้างสรรค์ รู้ทันโรคภัย” วันพุธที่ 25 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา 8.45 – 13.00 น. ณ ห้องประชุม 222 คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กิจกรรมพิเศษ: ตอบปัญหาชิงรางวัล, การใช้โยคะเพื่อความผ่อนคลาย โดย รศ.พญ.วันเพ็ญ ธุรกิตต์วัณณการ และ อ.วีระพงษ์ ไกรวิทย์ อ.จีรวรร ตั้งจิตเมธี ตามลำดับ
ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับความรู้และของที่ระลึก/ของรางวัลติดมือกลับบ้าน และสำหรับชาว Social Network เตรียมพบกับ “โปรแกรมห่วงใยสุขภาพของคนเล่นคอมฯ” (โหลดฟรี ใช้ฟรี ส่งต่อฟรี)  โปรแกรมที่จะช่วยให้ท่านเล่นคอมฯ พร้อมกับมีสุขภาพดีและแสดงความห่วงใยกับเพื่อนๆ ไปพร้อมกัน ติดตามได้ที่ http://www.thnic.or.th เร็วๆ นี้    ติดตามรายละเอียดการจัดกิจกรรมได้ที่ http://www.thnic.or.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ staff (at) thnic.or.th